Article
การปรับปรุง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ 2540
โดย act โพสเมื่อ Dec 08,2016
สปช. ได้เสนอให้ปฏิรูป “สิทธิในการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ด้วยการแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีหลักการดี เพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง แต่กลับขาดการใส่ใจจากผู้มีอำนาจทุกยุคสมัยและมีปัญหาในทางปฏิบัติมากมาย ซึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลไม่เข้าใจเจตนาของกฎหมายหรือกลัวความผิดพลาด จึงปกป้องตัวเองด้วยการปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลไว้ก่อน ขณะที่หลายคนก็จงใจใช้กฎหมายนี้เป็นข้ออ้างเพื่อปกปิดการกระทำที่ฉ้อฉลบางอย่างของตนและพวกพ้อง กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงกำหนดหลักการที่เป็นสากลในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสิทธิร่วมติดตามการใช้อำนาจรัฐ การกำหนดนโยบายสาธารณะ การปฏิบัติราชการและการใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว รวมถึงเพิ่มศักยภาพของหน่วยงานที่ดูแลและปฏิบัติที่ในการให้บริการข้อมูลข่าวสาร กล่าวคือ ข้อมูลข่าวสารสาธารณะทั้งหมดจะอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ทั่วไปว่าต้องถูกเปิดเผย นอกเสียจากที่ได้กำหนดไว้ว่าไม่สมควรเปิดเผย เช่น เรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือเกี่ยวกับสิทธิบางอย่างที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น ประวัติคนไข้ ข้อมูลทางคดีความ การแสดงความเห็นภายในหน่วยงาน เป็นต้น กฎหมายกำหนดให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงตามกฎหมายเท่านั้นและกำหนดไว้ด้วยว่าการเปิดเผยข้อมูลต้องกระทำโดยไม่ชักช้า กล่าวคือ ภายใน 15 วัน หรืออย่างช้าไม่เกิน 30 วัน โดยหลักการนี้จะครอบคลุมทุกหน่วยงานของรัฐรวมทั้งรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรและหน่วยงานใดๆ ที่นำเงินของรัฐไปใช้ นอกจากนี้ยังกำหนดสภาพบังคับให้ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม เช่น กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ให้มีหน่วยงานหรือจุดบริการรวมถึงมีบุคคลที่ต้องรับผิดชอบการให้บริการข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลโดยสุจริตจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การเปิดเผยข้อมูลจะเป็นไปตามแนวทางที่เรียกว่า Open Data หรือ Open Government Data ด้วยการใช้ระบบสารสนเทศหรือการเปิดเผยข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท ซึ่งจะเป็นวิธีปฏิบัติที่สะดวกต่อทุกฝ่าย ประหยัดและง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันครั้งสำคัญสำคัญ แต่จะส่งผลมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้าใจของคนไทยและเจ้าหน้าของรัฐทุกคนว่า สิ่งนี้มีเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะนอกจากจะช่วยให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างกว้างขวางแล้วความโปร่งใสจะช่วยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องทำงานอย่างรับผิดชอบและมีวินัย ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยป้องกันคอร์รัปชันอย่างได้ผล
ดูรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่ http://bit.ly/1MWxiXg
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
20/6/58